วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เทคนิคการถ่ายรูป


ภาพซิลูเอต (Silhouette) พูดง่ายๆก็คือ ภาพเงาดำ นั่นเอง โดยลักษณะของภาพแบบนี้ก็คือเราจะเห็นวัตถุในภาพเป็นเพียงรูปทรงสีดำ ไม่มีรายละเอียดอะไรในรูปทรงนั้นๆ ภาพแบบนี้เราสามารถถ่ายทำได้ง่ายๆ แม้กระทั่งคนที่ถ่ายภาพไม่เป็นก็ทำได้บ่อยๆ (เผลอๆจะบ่อยกว่าพวกที่ถ่ายรูปเป็นด้วยซ้ำ)
วิธีการก็คือ ให้เราถ่ายภาพย้อนแสงนั่นเอง ไม่ต้องฟิลแฟลชนะครับ เดี๋ยวจะไม่ได้ภาพเงาดำ ถ้าหากเราต้องการความดำแบบชัวร์ๆ ก็สามารถทำได้โดยใช้การวัดแสงเฉพาะจุด แล้ววัดแสงที่ฉากหลัง กล้องจะถ่ายรูปที่ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงจนแสงสำหรับตัวแบบของเราไม่พอ จึงดำไงครับ
แล้วทำไมเราต้องถ่ายภาพซิลูเอตล่ะ?
เหตุผลนั้นมีหลายประการครับ เช่น เราต้องการนำเสนอรูปทรงที่น่าสนใจของวัตถุต่างๆ เราก็สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบซิลูเอต เพื่อให้จุดสนใจอยู่ที่รูปทรงอย่างเดียว ผู้ชมไม่ต้องวอกแวกไปกับรายละเอียดของตัวแบบ หรือ ตอนถ่ายภาพนั้นไม่มีอุปกรณ์เสริมที่เพียงพอ เช่น ไปถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก ไม่มีฟิลเตอร์ GND ก็ถ่ายเป็นรูปซิลูเอตมาก็สวยได้ หรือ ตอนถ่ายรูปแฟนย้อนแสงแล้วลืมเปิดแฟลชหรือวัดแสงผิดที่ เวลาแฟนถามว่าทำไมถ่ายมาดำ เราก็บอกว่าพอดีเห็นทรวดทรงตัวเองเซ็กซี่ดี ก็เลยนำเสนอรูปทรงน่ะ ฮ่าๆๆๆ เอาล่ะครับ มาลองชมรูปตัวอย่าง เผื่อไว้ใช้เป็นไอเดียกันนะครับ



การถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาติ


การถ่ายภาพบุคคลให้สวยนั้น เพื่อนๆอาจจะนึกถึงการถ่ายรูปบุคคลในสตูดิโอที่ต้องใช้อุปกรณ์และผู้คน เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่างแต่งหน้า-ทำผม, ผู้ช่วยช่างภาพ และสตูดิโอขนาดใหญ่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ราคาแพงๆ แต่จริงๆแล้วเราสามารถถ่ายภาพบุคคลให้สวยได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อันหรูหราและแสนแพงเหล่านั้นเลย
การถ่ายภาพบุคคลให้ดูดีแบบมืออาชีพนั้นสามารถทำได้ใช้ วิธีการถ่ายทำง่ายๆ โดยการใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านหน้าต่างของห้องนั่นเอง ส่วนเงาเข้มที่เกิดขึ้นบนใบหน้านั้นเราสามารถทำให้จางลงได้โดยการสะท้อนแสง โดยใช้แผ่นโฟมสีขาว เมื่อคุณใช้แสงจากหน้าต่างเป็นแสงหลัก และคุณใช้แผ่นโฟมสีขาวสะท้อนแสงช่วยเปิดเงา ภาพที่ได้จะมีความสมดุลย์ของแสงเงาและดูเป็นมืออาชีพมากๆ ทดลองหลายๆแบบทั้งมุมสะท้อนของแผ่นโฟมและระยะห่างจากแบบ และสังเกตภาพที่เกิดจากระยะระหว่างกล้องและแบบที่ต่างๆกันด้วย
ลองทดลองในการวางตำแหน่งของตัวแบบ สังเกตรูปแบบของแสงที่ตกกระทบใบหน้าซึ่งจะทำให้ตัวแบบดูแก่ขึ้นหรือเด็กลง ซึ่งจะเกิดจากมุมตกกระทบและความเข้มของแสง โดยเริ่มแรกลองให้แบบหันหลังให้กับหน้าต่างและสะท้อนแสงกลับไปที่ใบหน้า จะทำให้เราได้แสงนุ่มๆที่ทำให้ใบหน้าดูดีขึ้นมา จากนั้นลองให้แบบหันประมาณ 45 องศากับแสงและสังเกตผลที่ได้ จากนั้นทำการปรับแต่งแสงตามสถานการณ์

มีกฏเก่าๆข้อหนึ่งที่คุณควรจะลืมไปซะ นั่นคือการให้แสงส่องมาทางไหล่ซ้ายของแบบและตกกระทบใบหน้า ซึ่งการให้แสงแบบนี้จะทำให้เราได้ภาพที่สวยแต่ล้าสมัยแล้ว
แบบที่สองลองถ่ายรูปในแบบที่แสงอาทิตย์ส่องมาจากด้านหลังของแบบ หากเราวัดแสงจากฉากหลังของแบบภาพที่ได้จะมีฉากหลังที่แสงถูกต้องสวยงาม แต่ตัวแบบจะเป็นเงาดำ ซึ่งภาพแบบนี้เราเรียกว่า “ภาพซิลูเอ็ด (Silhouette)” และหากเราวัดแสงให้ถูกต้องที่ใบหน้าของแบบ จะได้ภาพที่ใบหน้าของแบบถูกต้องแต่ฉากหลังจะสว่างขาวไม่มีรายละเอียดใดๆหลง เหลือ

วิธีการแก้ปัญหานี้ง่ายๆ คือ การตบแฟลช (Fill Flash) ซึ่งผมได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือคุณสามารถใช้แผ่นสะท้อนแสงกลับไปที่ใบหน้าของแบบ หากคุณไม่แน่ใจว่าแสงจะเพียงพอหรือไม่ ให้ลองถ่ายภาพแล้วเช็คฮีสโตแกรมดูว่าคุณได้ภาพที่ดีไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง สว่างเกินไป (Highlight) และพึงระวังในการถ่ายรูปย้อนแสงคืออาจจะเกิดแฟลร์ขึ้นในภาพได้ (แต่บางครั้งแฟลร์ก็ทำให้ภาพดูดีขึ้นมาได้)




เทคนิคการถ่ายรูปบุคคล

เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับกล้องถ่ายรูปของคุณ ผมเชื่อว่าหลายๆท่านจะพบว่าตัวเองเริ่มถ่ายรูปบุคคล (Portrait Photography) การถ่ายรูปบุคคลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการถ่ายรูปติดบัตรหรือรูปในใบ ประกาศจับเท่านั้นนะครับ แต่มันยังสามารถเป็นรูปถ่ายโคลสอัพดวงตาของสาวสวย หรือแม้กระทั่งรูปของพ่อค้าเนื้อหลังเขียงของเขาก็ได้
รูปบุคคลนั้นสามารถเป็นได้ในหลายรูปทรงและขนาด ซึ่งคุณควรจะลองถ่ายรูปบุคคลหลายๆแบบ สิ่งที่สำคัญที่คุณควรจะพึงระลึกถึงเสมอก็คือ มีคนที่สำคัญสองคนในการถ่ายรูปบุคคล คือ ตัวช่างภาพและนาย/นางแบบนั่นเอง คุณจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแบบเพื่อให้ได้รูปบุคคลที่ดีนั่นเอง
โดยทั่วๆไปการถ่ายรูปบุคคลนั้นมีอยู่ 3 ประเภทคือ
  1. ภาพโคลสอัพใบหน้าถึงครึ่งตัว
  2. ภาพบุคคลเต็มตัว
  3. ภาพบุคคลกับสถานที่ต่างๆ


    โดยมากแล้วจะเป็นภาพที่ใบหน้าของแบบนั้นเต็มเฟรม โดยมีฉากหลังเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย วัตถุประสงค์ก็เพื่อแสดงถึงความสวยงามของใบหน้าหรือส่วนของใบหน้าของแบบนั่น เอง โดยการใช้แสงนั้นสำคัญมากสำหรับภาพประเภทนี้ ตัวอย่างเช่น แสงที่มีทิศทางแน่นอน (Directional Light) จะดึงรายละเอียดและรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าออกมา เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเพื่อการศึกษา ส่วนแสงนุ่ม (Soft Light) จะให้ภาพที่ดูสวยงามมากกว่า เพราะจะช่วยซ่อนริ้วรอยและตำหนิอื่นๆบนใบหน้าได้ดีกว่า
    เมื่อคุณถ่ายภาพโคลสอัพบุคคล ให้พึงระวังเรื่องการบิดเบือนที่เกิดจากเลนส์ที่อาจจะทำให้ภาพดูไม่ดีได้ เช่น จมูกดูป่องๆ เป็นต้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ ให้ใช้ระยะโฟกัสยาวๆ ซึ่งระยะโฟกัส 85-135 มม. ถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพบุคคล


   ภาพบุคคลเต็มตัว
หากคุณต้องการถ่ายภาพบุคคลเต็มตัว ให้ใส่ใจในเรื่องของฉากหลังมากเป็นพิเศษ โดยฉากหลังที่น่าสนใจนั้นสามารถเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงฉากหลังที่รกรุงรัง เพราะฉากหลังที่รกรุงรังจะดึงความสนใจไปจากตัวแบบ ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะช่วยกำจัดฉากหลังที่รกรุงรัง คือ การใช้ขนาดรูรับแสงที่กว้างเพื่อเบลอฉากหลัง และจดจำไว้เสมอว่า หากในภาพที่คุณถ่ายมานั้นมีฉากหลังมากกว่าที่คุณต้องการ คุณสามารถที่จะครอปภาพเพื่อลดฉากหลังลงได้ และการถ่ายภาพในแนวตั้งนั้นเหมาะสมกับการถ่ายรูปบุคคลเต็มตัว



ภาพบุคคลกับสถานที่
สำหรับภาพแบบนี้ ตัวแบบนั้นเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของภาพ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในกรณีที่คุณต้องการเพิ่มเนื้อหาให้กับบุคคลในภาพ ฉากหลังนั้นมีส่วนสำคัญมากสำหรับภาพแบบนี้เพราะจะมีพื้นที่มากที่สุดในภาพ ซึ่งด้วยเหตุผลนี้คุณควรจะใช้รูรับแสงแคบๆเพื่อให้ฉากหลังมีความคมชัด ช่างภาพหลายท่านใช้เลนส์มุมกว้างสำหรับการถ่ายภาพแนวนี้ เพราะเลนส์แบบนี้ทำให้คุณเข้าใกล้แบบได้มากโดยที่ยังสามารถบันทึกภาพฉากหลัง ได้ในพื้นที่มากในเฟรม การจัดองค์ประกอบแบบกฏสามส่วนนั้นมีประโยชน์มากสำหรับภาพแนวนี้ครับ



การถ่ายรูป ติดบัตร




จากที่มีเพื่อนๆสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับการ “ถ่ายรูปติดบัตร” ว่าจัดแสงอย่างไร ผมก็พยายามค้นหาทางอินเตอร์เน็ท ส่วนใหญ่จะพบแต่ว่าวางตำแหน่งไฟอย่างไร ใช้ไฟกี่ดวง ใช้ฉากสีอะไร แต่ไม่เห็นมีใครบอกว่าอัตราส่วนของกำลังไฟเป็นอย่างไร จนผมไปเจอจากเว็บไซต์ของฝรั่งจึงได้นำมาแบ่งปันกันครับ

วัตถุประสงค์ของการถ่ายรูปติดบัตร

วัตถุประสงค์หลักของการถ่ายรูปติดบัตร ก็คือการแสดงว่าบุคคลในรูปนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีตำหนิที่เป็นจุดสังเกตได้ตรงไหน เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นตัวจริง ดังนั้นรูปติดบัตรที่ดีนั้น แสงจะต้องเคลียร์ไม่มีเงามาปิดบังจุดตำหนิต่างๆบนใบหน้า การจะมาเล่นแสงเงาหรือการรีทัชลบรอยแผลเป็น ฝ้า กระ นั้นเก็บเอาไว้สำหรับถ่ายรูปอย่างอื่นดีกว่าครับ (ส่วนการลบสิวและทำผิวเนียนนั้นพอทำได้นะครับ) และฉากหลังจะต้องไม่รก เรียบ ส่วนจะสีอะไรนั้นแล้วแต่หน่วยงานที่เราจะใช้ (ควรจะตรวจสอบเสียก่อนนะครับ ว่ามีข้อบังคับเรื่องสีของฉากหลังหรือไม่ ผมเคยเจอกับตัวตอนไปทำใบอนุญาตทำงานที่มาเลย์เซีย รูปที่ถ่ายไปฉากหลังสีน้ำเงิน แต่เค้าเอาฉากหลังสีขาว ต้องวิ่งไปถ่ายใหม่กันวุ่นวาย และเสียเวลา)

อุปกรณ์สำหรับการถ่ายรูปติดบัตร
(ที่ผมใช้)
1. ไฟแฟลช 3 ดวงพร้อมขาตั้ง (ในที่นี้ผมใช้แฟลชนอก 3 ตัว) หากใช้ไฟแฟลชสตูดิโอ ก็เริ่มต้นด้วยแฟลชกำลังไฟ 80 วัตต์เป็นอย่างน้อย 2 ตัวสำหรับส่องแบบ และ 30 วัตต์สำหรับส่องฉาก
2. ร่มแสงทะลุ 2 อัน (ใครมีร่มสะท้อนก็ใช้ได้นะครับ)
3. กล้องถ่ายรูป (ผมใช้ Canon 5D MKII)
4. Wireless Flash Trigger & Receiver
5. Flash Meter (ผมใช้เพราะจะได้จัดแสงง่ายและแม่นยำ) อุปกรณ์ชิ้นนี้ใครไม่มี ก็ใช้วิธีลองถ่ายแล้วปรับกำลังเอาไฟก็ได้ครับ


การจัดแสงสำหรับการถ่ายรูปติดบัตร


อันนี้ผมเอามาจากเว็บของฝรั่ง วิธีการก็ไม่ยากอะไร เพียงแค่วางตำแหน่งไฟตามภาพ โดยไฟส่องตัวแบบ 2 ดวง วางเฉียงประมาณ 45 องศาในแนวระนาบ แต่จะต่างจากการถ่ายภาพแนวเล่นแสงเงาคือ ตำแหน่งดวงไฟอยู่ในระดับเดียวกับสายตาของแบบ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเงาขึ้นนั่นเอง ส่วนไฟส่องฉากนั้นก็เพื่อให้ฉากสว่างขึ้น และที่สำคัญยังทำหน้าที่ลบเงาที่เกิดจากไฟหลักทั้งสองดวงอีกด้วย (ผมเคยลองถ่ายด้วยไฟหลักสองดวงมาแล้ว มันเกิดเงาบนฉากขึ้นจริงๆ คราวนี้พอมี 3 ดวงก็สบายครับ) ไฟทุกดวงผมสั่งให้ทำงานโดยใช้ Wireless Flash Trigger & Receiver
คราวนี้มาดูเรื่องสำคัญคือ กำลังไฟของไฟหลักทั้งสองดวง เพื่อไม่ให้เกิดเงาดังนั้นกำลังไฟของไฟหลักจะต้องเท่ากันครับ การกำหนดกำลังไฟผมก็ใช้ Flash meter วัดจนได้เท่ากัน หากไม่มี Flash Meter ก็ต้องลองถ่ายภาพดู แล้วปรับกำลังไฟจนไม่เกิดเงาบนหน้าแบบ ส่วนกำลังไฟส่องฉากนั้นเราก็ลองถ่ายภาพดู ถ้าเห็นว่าฉากสว่างและไม่มีเงาของแบบเกิดขึ้นบนฉากก็เป็นอันใช้ได้ครับ ในภาพตัวอย่างในบทความนี้ผมตั้งกำลังไฟหลักจนได้ที่ f/8 , 1/60s ISO 100 ทั้งสองดวงครับ

การถ่ายรูปติดบัตร

ขั้นตอนสำคัญที่สุดก็คือการถ่ายรูป เพราะหากว่าแค่จัดแสงแต่ไม่ถ่ายรูปก็ไม่มีรูปสิครับ วิธีการสำหรับผมนั้นไม่ยาก โดยผมใช้กล้องในระบบแมนนวล ตั้งค่ากล้องตามค่าที่อ่านได้จาก Flash Meter ส่วนหากใครไม่มีก็ใช้วิธีตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เอาไว้ อาจจะ 1/60 วินาที หรือ 1/125 วินาที หรือ 1/250 วินาที ก็ตามแต่ แล้วลองตั้งค่ารูรับแสงเริ่มที่ f/8 ลองถ่ายภาพดู หากภาพที่ได้สว่างไป ก็ลดขนาดรูรับแสงลด หรือ หากมืดไปก็เพิ่มขนาดรูรับแสง แต่ผมแนะนำว่าการถ่ายภาพแบบนี้ควรจะใช้ f/8 เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ได้ภาพที่มีความชัดลึก จะได้เห็นรายละเอียดบนใบหน้าได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นหากลองถ่ายแล้ว f/8 มืดไป ต้องเพิ่มกำลังไฟครับ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น